อธิบดีกรมวิชาการเกษตร สั่ง สวพ.6 ขยายผล ทุเรียนทุเรศ 2 ตู้คอนเทนเนอร์ ที่พยายามจะส่งออกผ่านด่านตรวจพืชมุกดาหาร แต่คุณภาพไม่ผ่านและสำแดงเอกสารที่อาจอันเป็นเท็จ ก่อนถูกตีกลับมาที่ล้ง (ต้นทาง) จังหวัดจันทบุรี แต่ไม่พบตู้ทุเรียนกลับมา ยังไม่รู้หายไปไหน สงสัยขบวนการสวมสิทธิ์ทุเรียนต่างด้าว
วันนี้(27/6/65) เวลา 14.00 น. นายชลธี นุ่มหนู ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 (สวพ.6) พร้อมทีมเล็บเหยี่ยวพิทักษ์ทุเรียนไทย กรมวิชาการเกษตร เข้าตรวจสอบโรงคัดบรรจุเพื่อการส่งออก (ล้ง) ม.9 ต.เขาวัว อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี หลังนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร รับรายงานจากด่านตรวจพืชมุกดาหาร ได้สกัดรถตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งทุเรียนที่เตรียมส่งออกไปจีน จำนวน 2 คัน และพบความผิดปกติหลายอย่าง เช่น ทุเรียนบรรจุไม่เต็มตู้ / ทุเรียนด้อยคุณภาพอย่างรุนแรง และอื่นๆ จึงแจ้งให้กลับมาคัดบรรจุใหม่ที่ล้งต้นทาง ต.เขาวัว อ.ท่าใหม่ แต่ปรากฏว่า ไม่พบรถตู้คอนเทนเนอร์ย้อนกลับมาตามที่มีการแจ้ง จึงสงสัยว่าหายไปใหน
จากการสอบถามคนงานของล้ง บอกว่า ล้งดังกล่าวยังไม่เคยบรรจุทุเรียน เจ้าหน้าที่จึงประสานขอพบเจ้าของกิจการ และได้รับคำตอบว่าออกไปทำธุระด้านนอก กระทั่งมีคนงานอ้างเป็นเสมียนขอพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ แต่ให้รายละเอียดไม่ได้โดยเฉพาะทุเรียนที่นำมาปล่อยออกจากล้ง แต่ไม่ได้มีการบรรจุ เจ้าหน้าที่ใช้เวลาราวเกือบ 1.30 ชม. จึงมีผู้ประสานงานเข้ามาและมาขอพบเพื่อแจ้งข้อมูล
ผอ.ชลธีฯ บอกว่า จากการสอบถามผู้อ้างตัวว่า เป็นเจ้าของล้ง ยอมรับว่า ล้งตัวเองไม่ได้บรรจุทุเรียนส่งออก เพราะยังไม่ได้ใบ GMP Plus มีเพียงใบขออนุญาตตั้งโรงคัดบรรจุ และได้รับมาตรฐาน DOA สำหรับสติ๊กเกอร์ติดที่ขั้วทุเรียนแล้ว
เมื่อราววันที่ 25 มิถุนายน 2565 มีเพื่อนของเจ้าของล้ง ที่อ้างว่าชื่อ “นายแทน” เป็นผู้ติดต่อว่าจะขอนำรถตู้คอนเทนเนอร์ 2 ตู้ บรรทุกทุเรียนมาปล่อยออกจากล้งที่ ต.เขาวัว อ.ท่าใหม่ ซึ่งตนบอกว่าจะได้เหรอทั้งที่เอกสารยังไม่ครบ นายแทน บอกว่า สามารถทำได้เพียงแต่ขอใช้สติ๊กเกอร์ติดที่ขั้วทุเรียน (DOA) ที่ล้งเพียงอย่างเดียว ซึ่งตัวเองไม่ได้เอะใจ จึงยอมให้ใช้ จากนั้นนายแทน ประสานให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชจันทบุรี มาตรวจก่อนปิดตู้ส่งออก เมื่อเจ้าหน้าที่มาถึงคนที่อยู่ในล้งดังกล่าว พยายามชวนเจ้าหน้าที่คุยอย่างผิดสังเกตในขณะที่เจ้าหน้าที่พยายามตรวจละเอียด โดยพบว่า กล่องถูกจัดเรียงสวยงามแต่กล่องคล้ายสภาพเก่า จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงแจ้งไปยังด่านตรวจพืชมุกดาหาร ให้ตรวจละเอียดและแจ้งถึงพฤติกรรม
จากนั้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 ด่านตรวจพืชมุกดาหาร ซึ่งเป็นด่านที่ออกใบรับรองสุขอนามัยพืชตรวจสอบอีกครั้ง พบทุเรียน 2 ตู้ๆ ละ 960 กล่อง น้ำหนักรวม 34,560 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 2,000,000 บาท แต่ภายหลังการสุ่มตรวจ พบว่าทั้ง 2 ตู้ บรรจุทุเรียนน้อยกว่าที่แจ้งไว้ตามเอกสาร โดยบรรจุตู้ละ 471 กล่อง และ 472 กล่องเท่านั้น ที่สำคัญยังพบทุเรียนที่มีเพลี้ยแป้งและราดำ ผลทุเรียนด้อยคุณภาพไม่ตรงตามมาตรฐานการส่งออก / บรรจุภัณฑ์บางส่วนอยู่ในสภาพเหมือนถูกใช้ซ้ำปะปนอยุ่กับบรรจุภัณฑ์ใหม่ / สติกเกอร์ที่ติดขั้วผล และสติกเกอร์ที่ติดข้างบรรจุภัณฑ์ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในพิธีสารไทย-จีน มีข้อความสำแดงไม่ตรงตามเอกสารที่แจ้ง ด่านตรวจพืชมุกดาหารจึงปฏิเสธการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช และแจ้งให้ตัวแทนผู้ส่งออกรับทราบ เพื่อขอคืนตู้สินค้าดังกล่าวกลับไปยังโรงคัดบรรจุต้นทาง โดยอ้างว่าไม่ได้ตรวจสอบสินค้าก่อนบรรจุตู้ และทางบริษัทไม่ประสงค์ขอใบรับรองสุขอนามัยพืช จากนั้นด่านตรวจพืชมุกดาหารจึงได้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ณ สถานีตำรวจภูธรเมืองมุกดาหาร
ผอ.สวพ.6 บอกว่า วันพรุ่งนี้(28/6/65) จะประสานตำรวจ และฝ่ายปกครอง เข้าสอบปากคำ และดำเนินคดีในเบื้องต้น รวมถึงติดตามทุเรียนด้อยคุณภาพอย่างหนัก 2 ตู้ ว่า หายไปใหน และใครคือเจ้าของทุเรียน 2 ตู้นั้นกันแน่ เพราะจากข้อมูลของด่านตรวจพืชมุกดาหารที่ ตรวจพบ ถือว่าเป็นทุเรียนที่ทุเรศมาก หากหลุดออกไปยังปลายทาง และจะทำให้เกิดผลเสียหายอย่างหนักกับประเทศไทย และนี่อาจจะเกี่ยวเนื่องกับขบวนการสวมสิทธิ์ทุเรียนไทยในต่างแดน เพราะมีรายงานว่า พฤติกรรมบรรทุกทุเรียนไม่เต็มตู้แบบนี้ คล้ายกับการเว้นพื้นที่ไว้เพื่อไปรอขึ้นทุเรียนระหว่างทางที่ประเทศเวียดนาม ด้วยการตัดฝาตู้คอนเทนเนอร์แล้วขนทุเรียนขึ้นบรรจุ จากนั้นจึงเชื่อมใหม่ โดยที่ไม่ต้องตัดสายรัดฝาตู้ของเจ้าหน้าที่ออก