"กระเพาะหมู" นวัตกรรมการผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง

รูปข่าว : ไขข้อข้องใจ วางแผน "แหกคุก" มีความผิดหรือไม่

14 ปีกับการดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาขาดแคลนน้ำ จนนำไปสู่นวัตกรรม"กระเพาะหมู" การผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง สร้างความเป็นธรรมในการบริหารจัดการน้ำ ให้กับชาวสวนผลไม้ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรกว่า 1,000 ไร่ ซ.7 ต.ตะเคียนทอง อ.เขาคิชฌกูฎ จ.จันทบุรี

นายมนัส พลคิด ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซอย 7 ต.ตะเคียนทอง อ.คิชฌกูฏ  จ.จันทบุรี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่ตำบลตะเคียนทอง ชาวบ้านมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรต่อเนื่อง เพราะมีโครงการกระเพาะหมู ช่วยกักเก็บน้ำและกระจายน้ำในพื้นที่อย่างทั่วถึง โดยจุดนี้มีทั้งหมด 13 คน ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรกว่า 1,000 ไร่ ซึ่งก่อนหน้านี้พื้นที่ ต.ตะเคียนทอง แห่งนี้ ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการเกษตร เนื่องจากเป็นพื้นที่อยู่ไกลจากเขื่อนพวง กว่าน้ำที่ส่งมาจะถึงผู้ใช้ ที่อยู่ท้ายหมู่บ้าน น้ำก็หมดไปเสียก่อน จะได้ใช้เฉพาะพื้นที่ต้นน้ำ จึงมีแนวคิดว่าทำอย่างไร ถึงจะให้ชาวบ้านทุกครัวเรือนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ และไม่เกิดความเหลื่อมล้ำในการใช้น้ำ ปี พ.ศ. 2549 ได้มีความพยายามที่จะปรับปรุงระบบการส่งน้ำในพื้นที่ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จปี พ.ศ. 2553 ได้พยายามอีกครั้งแต่ก็เกิดความล้มเหลว จนปี พ.ศ.2563  องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีได้สนับสนุนงบประมาณ 12 ล้านบาท ซื้อท่อเมนส่งน้ำขนาดใหญ่ และให้ชุมชนวางแผนต่อยอด คิดค้นนวัตกรรมระบบส่งน้ำ ร่วมถึงมีการเฉลี่ยออกเงินเพิ่ม ในกลุ่มผู้ใช้น้ำ จึงได้มีการว่าจ้างผู้รับเหมาเข้ามาออกแบบ ร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ จนนำมาสู่ความสำเร็จที่เกิดขึ้น

โดยมีกระบวนการส่งน้ำคือ น้ำที่ไหลมาจากเขื่อนพวง  ผ่านเข้าสู่ท่อเมน จากนั้นน้ำจะถูกกักเก็บในกระเพาะหมูก่อนทั้งหมด และมีเกจวัดแรงดันของน้ำ เพื่อดูค่าของแรงดันน้ำและปรับให้สมดุลกันมากที่สุด ก่อนปล่อยลงไปให้กลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะได้รับน้ำด้วยความแรงที่เท่ากันทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่พื้นที่ลุ่มต่ำ หรือที่สูง โดยมีเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำในกลุ่มคือ 1 อาทิตย์ จะเปิดน้ำให้กับผู้ใช้น้ำ 1 รอบ คนละ 12 ชั่วโมง ผู้ใช้น้ำต้องบริหารจัดการเองในการกักเก็บ เช่น รับน้ำที่เปิดมาลงในสระ หรือคลองในสวน ของตนเอง เพื่อไว้ใช้ในการเกษตร  นายมนัส พลคิด กล่าวต่อว่า กระเพาะหมูส่งน้ำ ถือเป็นที่แรกในจังหวัดจันทบุรี ที่มีการคิดค้นขึ้นมา โดยใช้ความพยามมากว่า 14 ปี เพราะต้องการในเกษตรกรในพื้นที่ ร่วมถึงชาวบ้าน มีน้ำใช้เพียงพอเพื่อการอุปโภค บริโภค

ด้านนายบุญเลิศ วุฒิชัย เกษตรกร ซอย 7 ต.ตะเคียนทอง บอกว่า ก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีกระเพาะหมูส่งน้ำ ขาดแคลนน้ำเป็นอย่างมาก เพราะตนเองทำสวนมังคุด ต้องใช้น้ำปริมาณมาก ยิ่งในช่วงมังคุดเริ่มออกผลิต ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ตนเองต้องไปซื้อน้ำมาดูแลสวนมังคุด เฉลี่ยวันละประมาณ 30,000 บาท รวมทั้งหมด 10 วัน ค่าใช้จ่ายซื้อน้ำ 300,000 บาท แต่เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวมังคุด ขายผลผลิตได้เพียง 350,000 บาทเท่านั้น ปัจจุบัน ตั้งแต่มีกระเพาะหมูส่งน้ำ ไม่ขาดแคลนน้ำในพื้นที่อีกต่อไป อีกทั้งยังสามารถนำที่กักเก็บไว้ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ตลอดทั้งปี 

#NBTจันทบุรี #NBTภาคกลาง #ข่าวช่อง11

แท็ก