จันทบุรี เตรียมการเชิงรุก Kick off เปิดฤดูกาลผลไม้ปี 66 ยกระดับผลไม้ส่งออกมีคุณภาพ โรงคัดบรรจุต้องได้มาตรฐาน เข้มข้นตรวจทุเรียนอ่อน-แก่

รูปข่าว : ไขข้อข้องใจ วางแผน "แหกคุก" มีความผิดหรือไม่

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานการประชุมผ่านทางไกลอิเล็กทรอนิกส์ Zoom meeting โดยมีนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี / นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ เกษตรกรชาวสวน เพื่อสร้างการรับรู้และชี้แจงแนวทางการดำเนินการต่าง ๆ ก่อนเข้าสู่ฤดูกาลผลิตผลไม้ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก การป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านการส่งออกผลไม้ ตลอดจนปัญหาผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจในหลักเกณฑ์กฎระเบียบ และขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ในการตรวจติดตาม เฝ้าระวัง และควบคุมการส่งออกทุเรียนไปจีนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้มอบนโยบายของกรมวิชาการเกษตรด้านการส่งออกผลไม้ ตามมาตรฐาน มกษ. 9047-2560 มาตรฐานสินค้าเกษตร และหลักปฏิบัติ สำหรับกระบวนการรับวัตถุดิบของโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุทุเรียน มาตรการในการตรวจสอบคุณภาพทุเรียน เพื่อป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพปะปนไปในช่วงต้นฤดู /มาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 และการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยในโรงคัดบรรจุ รวมทั้งการตรวจสอบคุณภาพทุเรียน ในโรงคัดบรรจุ และการตรวจ GMP Plus แนวทางการตรวจและออกใบรับรองสุขอนามัยพืชเพื่อการส่งออก (PC) และขั้นตอนการส่งออกผลไม้ไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และยืนยันว่าปีนี้เข้มข้นแน่นอน ใครที่ฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษทันที

ด้านนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ณ เวลานี้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันอย่างเต็มที่ ในการขับเคลื่อนผลไม้คุณภาพออกสู่ท้องตลาด เพราะปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูงขึ้น โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน สิ่งเดียวที่เป็นจุดแข็งของไทยคือรสชาติ ซึ่งจะแตกต่างจากประเทศอื่น ดังนั้นต้องทำควบคู่ไปกับเรื่องคุณภาพ ตั้งแต่ต้นทาง พร้อมกันนี้ยังจะมีการแบ่งสีโรงคัดบรรจุ ตามข้อมูลผลการตรวจก่อนวันประกาศเก็บเกี่ยว เพื่อใช้สุ่มตรวจเข้มข้นในโรงคัดบรรจุสีแดงและสีเหลือง

 

สำหรับบทกำหนดโทษ เกษตรกร มือตัตทุเรียน พ่อค้าคนกลาง ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ ผู้ประกอบการส่งออก ผู้ใดจำหน่ายทุเรียนที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ต่ำกว่าที่ประกาศไว้ในประกาศจังหวัด จะเข้าข่าย 1.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้น อันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ  2. ความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47 ผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือสาระสำคัญประการอื่น อันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 3. เกษตรกร อาจถูกลดขอบข่าย พักใช้ หรือเพิกถอน ใบรับรอง GAP 4.ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ (ลัง) อาจถูกระงับ หรือยกเลิกหนังสือสำคัญการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (DOA)

ขณะที่นายพิทวัฒน์  อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 เปิดเผยว่า ปีนี้ยังคงเข้มข้น  และเข้มงวดเรื่องของการตรวจทุเรียนอ่อนเหมือนเดิม เพื่อรักษาชื่อเสียงและคุณภาพการส่งออก โดยชุดทำงานก็เป็นชุดเดิม ซึ่งมีการเตรียมการไว้แล้ว รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะใช้ในการทำงาน อีกทั้งได้มีแผนรองรับในช่วงที่ผลผลิตส่งออกเป็นจำนวนมาก โดยเพิ่มอัตรากำลังเจ่าหน้าที่ให้มากกว่าปีที่ผ่านมา  เพื่อช่วยให้การส่งออกรวดเร็วยิ่งขึ้น และเชื่อว่าหากทุกคนดำเนินการตามขั้นถูกต้อง จะส่งผลดีต่อด้านเศรษฐกิจอย่างมหาศาล รวมถึงประเทศคู่ค้าก็จะเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าตลอดฤดูกาล 

#NBTจันทบุรี #NBTภาคกลาง #ข่าวช่อง11

แท็ก