ศปถ.สรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนสงกรานต์ 2565 ประสานจังหวัดถอดบทเรียนเดินหน้าสร้างความปลอดภัยทางถนน อย่างเข้มข้น

รูปข่าว : ไขข้อข้องใจ วางแผน "แหกคุก" มีความผิดหรือไม่

(18 เม.ย. 65) เวลา 10.30 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2565 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 17 เมษายน 2565 เกิดอุบัติเหตุ  188 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 171 คน  ผู้เสียชีวิต 31 ราย สถิติอุบัติเหตุสะสม 7 วัน (11 - 17 เมษายน 2565) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เกิดอุบัติเหตุรวม 1,917 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 1,869 คน ผู้เสียชีวิต 278 ราย ประสานจังหวัดวิเคราะห์และถอดบทเรียน การดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก รวมถึงค้นหาปัญหาอุปสรรคและปัจจัยความสำเร็จ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในมิติเชิงพื้นที่ให้สอดคล้องกับทุกปัจจัยเสี่ยงให้บรรลุเป้าหมายใหญ่ของประเทศในการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 12 คน ต่อประชากรแสนคนภายในปี พ.ศ. 2570

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจ ด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี (ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์) เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมประจำวันที่ 17 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่เจ็ดของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 188 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 171 คน ผู้เสียชีวิต 31 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 40.69 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 21.81 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.11 รถปิกอัพ 7.37 ส่วนใหญ่เกิดบนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 47.34 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 27.66 บริเวณจุดเกิดเหตุเป็นทางตรง ร้อยละ 85.64 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 17.01 – 18.00 น. ร้อยละ 11.17 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ในช่วงอายุ 20 – 29 ปี และช่วงอายุ 50 – 59 ปี ร้อยละ 17.33 โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา เชียงราย และเพชรบุรี (จังหวัดละ 8 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เพชรบุรี (9 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กำแพงเพชร พระนครศรีอยุทธยา ราชบุรี ร้อยเอ็ด ลำปาง สงขลา และสุพรรณบุรี (จังหวัดละ 2 ราย) เจ้าหน้าที่ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,895 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 56,134 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 372,032 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 59,049 รายมีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 16,503 ราย ไม่มีใบขับขี่  15,366 ราย

สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน (วันที่ 11 – 17 เมษายน 2565) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,917 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 1,869 คน ผู้เสียชีวิต 278 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (66 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (63 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (13 ราย) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตรวม 6 จังหวัด ได้แก่ นครพนม ปัตตานี ยะลา ระนอง สมุทรสาคร และสิงห์บุรี ท้ายนี้ ศปถ. ขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วน เครือข่ายอาสาสมัคร กลุ่มจิตอาสาและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนในการเดินทางด้วยความทุ่มเทและเสียสละ 

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 พบว่า  จำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและจำนวนผู้บาดเจ็บลดลงจากปีที่ผ่านมา แต่มีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยสถิติผู้เสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุมีอัตราที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการขับรถด้วยความเร็วสูง ทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งในช่วงสงกรานต์ปีนี้จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลค่าเฉลี่ยสถิติอุบัติเหตุทางถนนย้อนหลัง 3 ปี สำหรับสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการขับรถเร็วและดื่มแล้วขับ รวมถึงจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด ซึ่งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานจังหวัดบูรณาการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยกำชับจังหวัดตรวจสอบข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2565 เพื่อนำมาวิเคราะห์และถอดบทเรียนการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก รวมถึงค้นหาปัญหาอุปสรรคและปัจจัยความสำเร็จ มุ่งเน้นการสร้างความปลอดภัยทางถนนในมิติเชิงพื้นที่ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาสถานการณ์และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งคน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานและติดตามประเมินผลการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ให้บรรลุเป้าหมายใหญ่ของประเทศ

สำหรับการดำเนินงานลดอุบัติทางถนนในภาพรวม ศปถ.จะได้รวบรวมข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วนไปจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลกำหนดเป็นกรอบแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างความปลอดภัยทางถนนของประเทศอย่างรอบด้าน เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายระดับประเทศในการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 12 คน ต่อประชากรแสนคนภายในปี พ.ศ. 2570 ท้ายนี้ ขอเชิญชวนประชาชนคนไทยทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการลดอัตราจำนวนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายเพื่อร่วมสร้างการสัญจรอย่างปลอดภัยของประเทศให้ยั่งยืน

Cr: ส.ปชส.นครนายก

#NBTจันทบุรี #NBTภาคกลาง #ข่าวช่อง11

แท็ก