ชาวจันทบุรี เลือกจ่ายค่าสินค้าและบริการผ่าน Digital Payment (ดิจิทัลเพย์เม้นท์) เพราะสะดวกสบาย รวดเร็ว ขณะที่ผู้ประกอบการร้านค้าเผย ลูกค้าส่วนใหญ่สแกนจ่ายค่าสินค้า ส่วนหนึ่งเกิดจากโครงการรัฐที่กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายผ่านออนไลน์

รูปข่าว : ไขข้อข้องใจ วางแผน "แหกคุก" มีความผิดหรือไม่

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจการจ่ายเงินชำระค่าสินค้าและบริการ ที่ร้าน ทวีเจริญ ซุปเปอร์สโตร์ สาขาถนนมหาราช จ.จันทบุรี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 80 จ่ายค่าสินค้าแบบสแกนจ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดของร้านค้า บางรายก็จ่ายแบบพร้อมเพลย์ในแอปธนาคารต่าง ๆ ส่วนการจ่ายเงินสดช่วงนี้ค่อนข้างน้อย โดยนางสาวธวัลรัตน์ กรีบมาลี ชาวจันทบุรี เปิดเผยว่า เลือกการโอนจ่ายมานาน 3-4 ปีแล้ว เนื่องจากมีความสะดวกสบาย และรวดเร็ว อีกทั้งยังไม่ต้องพกเงินสด และไม่เสี่ยงกับเงินหายอีกด้วย พร้อมกันนี้ยังมองว่าการเลือกโอนหรือสแกนจ่าย จะช่วยเตือนความจำว่า ในแต่ละครั้งซื้ออะไรไปบ้าง ซื้อที่ไหน รวมถึงเป็นหลักฐานในการยืนยันชัดเจนว่าของที่ซื้อมา ชำระค่าบริการเรียบร้อยแล้ว มีใบเสร็จรองรับผ่านแอปธนาคาร

ขณะที่นางสาวฐิตินันท์ แซ่อึ้ง ประชาสัมพันธ์ ร้าน ทวีเจริญ ซุปเปอร์สโตร์ สาขาถนนมหาราช เปิดเผยกับทีมข่าวว่า ลูกค้าส่วนใหญ่เลือกการชำระค่าสินค้า ผ่านพร้อมเพลย์ และคิวอาร์โค้ดของทางร้านจำนวนมาก โดยที่ร้านกำหนดสแกนจ่ายขั้นต่ำ 100 บาท ในหนึ่งวันมียอดประมาณ 300,000 บาท ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากโครงการรัฐของรัฐต่าง ๆ ที่มีการนำร่องใช้จ่ายผ่านระบบออนไลน์ เช่น โครงการคนละครึ่ง โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะเติมเงินไว้ในแอปเป๋าตังค์จำนวนมาก และเวลาใช้จ่ายโครงการคนละครึ่งในหนึ่งวันจะสามารถใช้ได้ 300 บาท  รัฐออกครึ่ง ประชาชนออกครึ่ง แต่เวลาซื้อของหากเกิน 300 บาท ลูกค้าจะจ่ายผ่านแอปเป๋าตังค์ทันที โดยไม่จ่ายเงินสด ซึ่งตนก็เห็นด้วยว่าโครงการต่าง ๆ ของรัฐ จ่ายผ่านระบบออนไลน์ดี เพราะสามารถตรวจสอบได้ว่าใครนำเงินไปซื้ออะไรบ้าง และอีกเหตุผลหนึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากโควิด-19 เพราะตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดมาประชาชนก็หันมาสแกนจ่ายโดยตลอด

พร้อมกันนี้ยังกล่าวต่อว่า การสแกนจ่ายผ่านพร้อมเพลย์ ไม่ได้มีผลกระทบต่อทางร้าน กลับมองว่ามีประโยชน์มากกว่า เพราะไม่ต้องรับเงินจากลูกค้าเกิน ไม่ต้องรับเงินจากลูกค้าขาด และไม่ต้องทอนพอดีเป๊ะ ง่ายต่อการสรุปยอดแต่ละวัน

#NBTจันทบุรี #NBTภาคกลาง #ข่าวช่อง11

แท็ก